ผลลัพธ์การเรียนรู้ที่คาดหวังตามหลักสูตร
ตามมาตรฐานหลักสูตรที่ กมอ.กำหนดตั้งแต่ปี 2565 ทุกหลักสูตรจะต้องกำหนดผลลัพธ์การเรียนรู้ที่คาดหวัง(Program Learning Outcomes-PLOs) โดยกำหนดให้ครอบคลุม 4 ด้าน คือ
1. ด้านความรู้( Knowledge) เป็นความรู้ในภาค Cognitive Domain อาจเน้นไปที่ ความรู้-ความเข้าใจในเนื้อหาสาระ การประยุกต์ใช้ความรู้ และ ความสามารถด้านการวิเคราะห์ ประเมินค่า และสร้างสรรค์ทางเลือกใหม่ในด้านแนวคิด วิธีการหรือแนวทางการพัฒนา
2. ด้านทักษะ(Skills) เป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิตหรือประกอบอาชีพในศตวรรษที่ 21 เป็นทักษะปฏิบัติในภาค Psychomotor Domain
3. ด้านจริยธรรม(Ethics) เป็นค่านิยมในการปฏิบัติตนตามกฎหมาย ค่านิยมทางสังคม และจรรยาบรรณวิชาชีพ เป็นคุณลักษณะในภาค Affective Domain
4. ด้านลักษณะบุคคล( Characteristics) เป็นลักษระที่จำเป็นสำหรับการเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม และสมาชิกที่ดีของวิชาชีพ เป็นคุณลักษณะในภาค Affective Domain
ผลลัพธ์การเรียนรู้ที่คาดหวังตามมาตรฐานคุณวุฒิอุดมศึกษา V.S. มาตรฐานการศึกษาชาติ
หากพิจารณามาตรฐานคุณวุฒิการศึกษาระดับอุดมศึกษา 4 ประเภท จะพบว่า สอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาชาติ(2561) ที่กำหนดมาตรฐานสมรรถนะเยาวชนไทยหรือคนไทย เป็น 3 ด้าน คือ
1. Active Learners: เป็นผู้เรียนที่มีความกระตือรือร้นในการเรียนหรือใฝ่รู้ และมุ่งมั่นศึกษาจนรอบรู้ในด้านต่างๆ....จะตรงกับด้านความรู้ และค่านิยมด้านนิสัยใฝ่รู้
2. Creators/Co-Creators: เป็นผู้สร้างสรรค์นวัตกรรม หรือเป็นผู้ร่วมงานที่สร้างสรรค์ จะต้องมีทักษะที่จำเป็นสำหรับการปฏอบัติงาน หรือดำเนินชีวิตในศตวรรษที่ 21 เช่น มีทักษะภาษาเพื่อการสื่อสาร ทักษะการทำงานเป็นทีม-เป็นเครือข่าย ทักษะไอซีที ทักษะการวิจัยเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่....จะตรงกับด้านทักษะ(Skills เป็นส่วนใหญ่)
3. Active Citizen: เป็นพลเมืองที่พึงประสงค์ มีคุณลักษณะ(Characteristics/Attribute) ที่จำเป็นสำหรับการอยู่ร่วมกันในสังคม หรือเพื่อการดำเนินชีวิต หรือเพื่อการอยู่ในวงวิชาชีพ(กรณีหลักสูตรปริญญา คือ กำหนดด้านจริยธรรม ในวิชาชีพ)
ในการกำหนดผลลัพธ์การเรียนรู้ที่คาดหวังตั้งแต่ปี 2552 คือ TQF 5 ด้าน ต่อมา กำหนด 3 องค์ประกอบในปี 2561 และล่าสุด คือ จำแนกเป็น 4 ด้าน ตามมติ กมอ.ที่เป็นกรณีของหลักสูตรระดับอุดมศึกษา ซึ่งหลักสูตรทุกระดับ ยังคงยึดถือหรือสอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาชาติ
การกำหนดผลลัพธ์การเรียนรู้ที่คาดหวัง
เป็นความต้องการหรือสอดคล้องกับความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับหลักสูตร
กำหนดรายการผลลัพธ์การเรียนรู้ที่คาดหวังครอบคลุม 4 ด้าน คัดสรรค์เฉพาะรายการที่สำคัญๆ จำเป็นขั้นต่ำ จำนวนไม่มากเกินไป และสามารถดำเนินการให้บรรลุผลสำเร็จได้ตามหลักสูตร
กำหนดรายการที่เป็นจุดเน้นและต้องทำการประเมินพัฒนาการหรือประเมินสรุปในแต่ละชั้นปี(Year Learning Outcomes)
การบริหารจัดการ หรือส่งเสริมให้ประสบความสำเร็จตามผลลัพธ์การเรียนรู้ที่คาดหวัง
จะต้องมี(1) รายวิชาในหลักสูตร หรือ(2) กิจกรรมเสริมประสบการณ์ รองรับการพัฒนาให้บรรลุตามรายการผลลัพธ์การเรียนรู้นั้นๆ(PLOs) ..โดย แต่ละรายวิชา หรือแต่ละกิจกรรมอาจรองรับการพัฒนาผลลัพธ์การเรียนรู้หลายรายการ
จะต้องสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างทีมบริหารหลักสูตร กับอาจารย์ผู้สอน เพื่อให้เข้าใจรายการผลลัพธ์การเรียนรู้ที่คาดหวัง ให้ตรงกัน และตระหนักในคุณค่าหรือความสำคัญของ PLOs ที่จะมีผลต่อความสำเร็จในชีวิตของนักศึกษา และเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการจัดประสบการณ์ที่มีเข็มมุ่ง ไปในทิศทางเดียวกัน
ผู้สอนแต่ลรายวิชา จะต้องอธิบายได้ว่า (1) รายวิชาของตน มุ่งเน้นผลลัพธ์การเรียนรู้ที่สำคัญๆอะไรบ้าง หรือจำแนกเป็นผลลัพธ์การเรียนรู้ย่อยๆ ในระดับรายวิชา(Course Learning Outcomes-CLOs) อย่างไรบ้าง (2) จัดกิจกรรมการเรียนการสอนอย่างไร และ (3) จะทำการประเมินผลเพื่อตรวจสอบการบรรลุผลตามรายการผลลัพธ์การเรียนรู้ อย่างไร
จะต้องชี้แจงให้ผู้เรียนรับทราบ PLOs และความจำเป็นที่จะต้องเรียนให้ประสบความสำเร็จตาม PLOs ที่เน้นการเรียนรู้แบบชี้นำตนเอง Self-Directed Learning
การจัดการเรียนการสอนต้องเน้นการเรียนรู้จากสภาพจริง Authentic Learning ในบริบทของวิชาชีพจริง(Authentic Context of Profession) มากกว่าในสถานการณ์เสมือนในห้องเรียนของมหาวิทยาลัย(Virtual Situations)
การประเมินพัฒนาการตาม PLOs ควรทำการประเมินทุกสิ้นปีของแต่ละชั้นปี ให้ความสำคัญกับการประเมินตนเองของนักศึกษา การประเมินเชิงยืนยันจากผู้เกี่ยวข้อง และการรวบรวมหลักฐานที่แสดงถึงพัฒนาการตาม PLOs อย่างครอบคลุม ครบถ้วน
อาจใช้ E-Portfolio เป็นแหล่งรวบรวมเอกสาร หลักฐานที่สะท้อนสมรรถนะตาม PLOs สำหรับนักศึกษาเป็นรายบุคคล และใช้ E-Portfolio Assessment เป็นเครื่องมือหรือกลไกในการประเมินที่เน้นการประเมินตามสภาพจริง( Authentic Assessment)
นักศึกษาที่มีพัฒนาการล่าช้า หรือต่ำกว่าเกณฑ์ในแต่ละรอบการประเมิน ควรได้รับการดูแลช่วยเหลือ หรือนิเทศแนะนำ เป็นกรณีพิเศษ จนกว่าจะบรรลุตามเกณฑ์ขั้นต่ำ หรือ ปรากฏผลการประเมินตามรายการ PLOs ไม่ต่ำกว่าระดับปานกลางหรือพอใช้
Comments